การตรวจสอบทุจริตภายในองค์กร

สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส โออิชิจัดให้มีมาตรการกำกับดูแลและมีช่องทางสื่อสารสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรวมทั้งพนักงานในการรับเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสการกระทำที่สงสัยว่ามีการฝ่าฝืน การละเมิดสิทธิ์ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จรรยาบรรณ หรือนโยบายการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงการรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้องหรือระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง โดยสามารถแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรงผ่านหลากหลายช่องทางที่เปิดเผย รวมถึงช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทในหัวข้อนักลงทุนสัมพันธ์

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส
เว็บไซต์ : www.oishigroup.com
อีเมล : AuditCommittee@Oishigroup.com
ไปรษณีย์ :
คณะกรรมการตรวจสอบ ฝ่ายตรวจสอบภายใน บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 90 อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ชั้นที่ 36
ห้องเลขที่ บี3601 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

นอกจากนี้ โออิชิได้กำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส โดยถือว่าข้อมูลของผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ บริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามที่กฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกำหนด รวมถึงจัดให้มีระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสและการให้ความคุ้มครองตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทและบริษัทย่อย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 (“ระเบียบการรับเรื่องร้องเรียน”) เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสของโออิชิมีแบบแผนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว และมีมาตรฐานสากลทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำอื่น ๆ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงพนักงานว่าจะได้รับการป้องกันจากการถูกกลั่นแกล้ง ให้โทษ หรือปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากการร้องเรียนหรือให้เบาะแสแก่โออิชิ เว้นแต่การกระทำดังกล่าวได้กระทำโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนามุ่งร้ายทำลายบริษัทหรือบุคคลอื่น หรือผิดกฎหมาย หรือระเบียบวินัยของบริษัท

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระ เป็นผู้ดูแลและกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนหรือข้อมูลเบาะแสที่ผ่านเข้ามาตามช่องทางดังกล่าวข้างต้น รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอิสระในการปฏิบัติงานและรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบในการคัดกรอง บริหารจัดการ และตรวจสอบข้อร้องเรียนหรือเบาะแส หากมีมูลความจริงที่จะนำเสนอผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณา และแนะนำแนวทางการแก้ไข หรือรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป โดยภายหลังการพิจารณาดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงตามข้อร้องเรียนหรือเบาะแสที่ได้รับมาแล้ว บริษัทจะแจ้งการดำเนินการให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ หากมีกรณีที่เรื่องร้องเรียนหรือการให้เบาะแสกระทำด้วยเจตนาที่ดี ปราศจากการมุ่งร้ายทำลายชื่อเสียงของบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เมื่อบริษัทถูกศาลพิจารณาแล้วว่าได้ละเมิดสิทธิตามกฎหมายของบุคคลนั้นจริง บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากบริษัทตามความเหมาะสม พอสมควรแก่เหตุ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด