บรรจุภัณฑ์และเศรษฐกิจหมุนเวียน

โออิชิ ได้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลและลดขยะมูลฝอยในธุรกิจ กระบวนการผลิต และผู้บริโภค เพื่อตอบสนองเป้าหมายการกำจัดของเสียอย่างยั่งยืนของกลุ่มบริษัทไทยเบฟในการมุ่งสู่การทำให้การสูญเสียทางอาหารและขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงไปยังบ่อฝังกลบกลายเป็นศูนย์ หรือ Zero Food Waste to Landfill และลดการฝังกลบของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นศูนย์ บริษัทได้วางแผนกลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ได้แก่ การลด ควบคุม และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ และดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ผ่านโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนี้

1. โครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเสีย
• โครงการรักษ์อาหาร
การดำเนินงาน: บริษัทร่วมสนับสนุนโครงการ “รักษ์อาหาร” ของ “มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์”
(SOS Thailand) นำอาหารที่เหลือจากการใช้งาน ซึ่งเป็นอาหารที่ยังรับประทานหรือปรุงประกอบได้ เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปูอัด ลูกชิ้น ผัก ผลไม้ และอาหารทอดจากร้านอาหารในเครือโออิชิ จำนวน 3 ร้าน ในปี 2564 ประกอบด้วย ร้านชาบูชิ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ร้านชาบูชิ สาขาสามย่านมิตรทาวน์ และร้านโออิชิ อีทเทอเรียม สาขาสามย่าน
มิตรทาวน์ ได้ทำการขยายสาขาเพิ่มเติมในปี 2565 เป็น 24 สาขา แบ่งเป็นชาบูชิ 16 สาขา โออิชิ บุฟเฟต์ 6 สาขา และ นิกุยะ 2 สาขา โดยมีฝ่ายประกันคุณภาพของโออิชิ (QA) จัดทำวิธีเก็บอาหารสำหรับการบริจาคดังกล่าว เพื่อให้ยังคงคุณภาพพร้อมอบรมและให้ความรู้แก่พนักงานของแต่ละสาขาที่ร่วมโครงการ เพื่อส่งต่ออาหารที่ยังคงคุณภาพและมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคให้มูลนิธิได้นำไปช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ โออิชิ ในฐานะภาคธุรกิจไทยที่เป็นผู้ผลิตอาหารและให้บริการร้านอาหาร จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
ผลงาน: โออิชิสนับสนุนโครงการรักษ์อาหารมาตั้งแต่ปลายปี 2563 และเตรียมขยายการสนับสนุนจากสาขาอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต โดยปริมาณอาหารที่บริจาคตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 - ก.ย. 2565 รวมเป็นจำนวน 9,264.07 กิโลกรัม หรือเท่ากับอาหาร 76,336 มื้อ คิดเป็นมูลค่า 938,932.80 บาท

• โครงการ #กินหมดเกลี้ยง Challenge
การดำเนินงาน: โออิชิ จัดโครงการ #กินหมดเกลี้ยง Challenge ผ่านร้านอาหารชาบูชิ จำนวนรวม 160 สาขา และนิกุยะ จำนวน 5 สาขาทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันลดขยะอาหารซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดต้นทุนให้กับร้านได้อีกด้วย โดยมีรูปแบบกิจกรรม คือทางร้านจะเชิญชวนลูกค้าเข้าร่วมโครงการ โดยลูกค้าสามารถทานได้ไม่จำกัดปริมาณเช่นเดิม แต่ให้ตักทานแต่พอดี ไม่เหลือทิ้ง จึงถือว่าเป็นผู้ชนะในแคมเปญ โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นคูปองส่วนลด 50 บาท สำหรับใช้บริการในครั้งต่อไป
ผลงาน: มีลูกค้าประมาณ 362,420 คน ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยลดขยะอาหารในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565

• การรีไซเคิลน้ำมันพืชเก่าจากการประกอบอาหาร
การดำเนินงาน: บริษัทนำน้ำมันพืชเก่าที่ได้จากการปรุงประกอบอาหารที่ร้านอาหารในเครือโออิชิและจากโรงงานโออิชิ ฟู้ด เซอร์วิส ไปจำหน่ายให้กับบริษัทคู่สัญญาที่ได้รับรองมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้ว โดยจะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นไบโอดีเซลหรืออาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมดจะถูกนำไปใช้งานอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฏหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร
ผลงาน: โครงการนี้สามารถส่งต่อน้ำมันพืชเก่าที่ผ่านการใช้งานแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 จำนวนประมาณ 160,236 กิโลกรัม นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่จะแปรสภาพให้ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อไป

• โครงการ “ไม่กินบอก เอาออกให้”
การดำเนินงาน: เป็นโครงการที่จัดขึ้นที่ร้านโออิชิ ราเมน, คาคาชิ และโออิชิ บิซโตโระ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ลูกค้าตระหนักถึงการลดขยะอาหาร จากการทิ้งเศษอาหารที่ไม่ทาน โดยลูกค้าสามารถแจ้งกับทางร้านได้ว่าไม่ต้องการส่วนประกอบใดบ้าง เพื่อจะได้ไม่เหลือเป็นขยะอาหาร
ผลงาน: แม้ปริมาณขยะอาหารไม่ได้ลดลงอย่างมาก แต่การสื่อสารเจตนารมย์ของโครงการนี้ ก็ทำให้ลูกค้าได้พิจารณาและตระหนักถึงประเด็นปัญหาด้านขยะอาหารได้พอสมควร

• การนำกากชาไปใช้ประโยชน์
การดำเนินงาน: โรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิสามารถส่งต่อกากชาให้กับบริษัทคู่สัญญาที่ได้รับรองมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพในการจัดการกากชานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ผลงาน: โรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี และโรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิ ในเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ส่งต่อกากชาปริมาณ 4,380,940 กิโลกรัม ให้บริษัทดังกล่าวนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง

2. การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์
ในการเลือกวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ โออิชิ ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังคำนึงถึงการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในทุกกลุ่มธุรกิจ

ธุรกิจอาหาร: ร้านอาหารโออิชิ และอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ ปรับปรุงการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนด้านบรรจุภัณฑ์ 4 มิติ ได้แก่
• ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกชนิดที่สามารถนำเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้
• ลดปริมาณการใช้พลาสติกผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
• ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ
• ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)

ในปี 2565 ร้านอาหารในเครือโออิชิและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ สามารถดำเนินการตามเป้าหมาย และสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 7.59 ตัน จากการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
• ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้แก่ ถุงผ้าสปันจ์บอล พร้อมระบุสัญลักษณ์ Recycle ลงบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคที่ใช้งานได้รับทราบข้อมูล ซึ่งถุงผ้านี้จะให้บริการในแบบดีลิเวอรี่ที่เป็นการสั่งซื้อปริมาณสูง เพื่อให้รองรับน้ำหนักได้ดี
• การสร้างความตระหนักรู้ให้กับลูกค้าให้นำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำแทนการใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยสื่อสารผ่านข้อความ “ถุงนี้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้” ลงบนถุงพลาสติก
• ใช้ถุงขยะที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลเท่านั้น
• รณรงค์งดใช้หลอด โออิชิให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามนโยบายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ประเภท ได้แก่ กล่องโฟม ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 ด้วยการจัดโครงการรณรงค์ลดใช้หลอด เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือในการงดใช้หลอด ติดตั้งไว้บริเวณจุดแจกหลอด ในร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ของโออิชิจำนวน 170 สาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายๆ
• นำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาใช้เป็นถุงขยะ โออิชิได้เล็งเห็นว่าถุงพลาสติกที่ซัพพลายเออร์ใช้บรรจุวัตถุดิบส่งมายังร้านอาหารเป็นจำนวนมากนั้นล้วนเป็นถุงพลาสติกที่มีขนาดและความหนาที่สามารถนำมาใช้แทนถุงขยะได้ จึงริเริ่มโครงการเปลี่ยนถุงพลาสติกบรรจุวัตถุดิบเหล่านั้นมาเป็นถุงขยะแทนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา เนื่องจากในการจัดส่งวัตถุดิบมายังร้านอาหารนั้นจำเป็นต้องมีการรักษาความสะอาด ปลอดภัย และรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน จึงต้องมีการใช้ถุงพลาสติกมาใช้บรรจุวัตถุดิบต่างๆ ในระหว่างการขนส่งจากซัพพลายเออร์ต่างๆ โดยคัดเลือกถุงที่ยังมีสภาพที่ดี แทนที่จะทิ้งไปหลังจากการใช้งาน นำมาใช้เป็นถุงขยะในร้านอาหาร

นับแต่เริ่มโครงการ ร้านอาหารในเครือโออิชิลดปริมาณการใช้ถุงขยะที่ซื้อมาใช้ทั้ง 2 ขนาด (25x28 นิ้ว และ 36x45 นิ้ว) ลงไปเหลือโดยเฉลี่ยสาขาละ 16 แพ็คต่อเดือน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลงจากช่วงก่อนการเริ่มโครงการที่ใช้เฉลี่ยสาขาละ 19 แพ็คต่อเดือน

นอกจากนั้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกจากการดำเนินการดังต่อไปนี้
- ปรับความหนาของบรรจุภัณฑ์ลดลง เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกแต่ยังสามารถคงคุณภาพในการส่งมอบอาหารให้กับผู้บริโภค โดยได้ปรับลดขนาดความหนาของ
o ชุดชามข้าว 2 ชั้น จาก 42 กรัม เหลือ 38.3 กรัม
o ชุดเบนโตะ โดยตัวถาดลดขนาดความหนาจาก 0.7 มิลลิเมตร เหลือ 0.6 มิลลิเมตร และฝาจาก 0.5 มิลลิเมตร เหลือ 0.3 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ยังได้ทำการแยกการบริหารจัดการ SKU ของเซ็ทชามข้าวใหม่ให้เหมาะสมกับลักษณะอาหาร
- เปลี่ยนถุงและถาดพลาสติกแซลมอนนิกิริ จาก PS Polystyrene มาเป็น PP Polypropylene
ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%
- ปรับเปลี่ยนวิธีการติดสก็อตเทปใสที่บรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปิดได้อย่างสะดวกแต่ยังสามารถคงคุณภาพของสินค้าไว้ได้ โดยสามารถลดปริมาณการใช้สก็อตเทปลงได้เช่นกัน ทั้งนี้สก็อตเทปที่ใช้นั้นทำมาฟิล์มเซลลูโลสสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การลดความหนาชั้นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ของอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ราเมนแช่แข็งสามารถลดความหนาของชั้นฟิล์ม LLDPE ได้ครบ 100%
- บรรจุภัณฑ์ของโออิชิ อีทโตะ กลุ่มแซนวิชแช่เย็นใช้ฟิล์มประเภทพลาสติกเดี่ยว (Mono-material)
เพื่อสามารถนำไปย่อยสลายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแยกชนิดฟิล์ม ช่วยลดขั้นตอนและลดการใช้พลังงานในการแยกชนิดฟิล์ม

ธุรกิจเครื่องดื่ม: นอกจากมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องดื่มชาเขียวที่มีคุณภาพแล้ว โออิชิ ยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดปริมาณพลาสติก โดยดำเนินการดังนี้
• ปรับลดน้ำหนักพรีฟอร์ม: ขวดพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์หลักของเคื่รองดื่มชาเขียวโออิชิ โดยมีพรีฟอร์มเป็นวัตถุดิบในการเป่าขึ้นรูปขวด แบ่งเป็น 2 ขนาด ได้แก่
(1) พรีฟอรม์น้ำหนัก 17 กรัม ใช้เป่าขวดพลาสติกขนาด 350 มิลลิลิตร และ 380 มิลลิลิตร
(2) พรีฟอร์มน้ำหนัก 18.5 กรัม ใช้เป่าขวดพลาสติกขนาด 500 มิลลิลิตร

ซึ่งแต่ละปี โออิชิ ใช้พรีฟอรม์จำนวนมากกว่า 567 ล้านชิ้นต่อปี ประกอบด้วยพรีฟอรม์น้ำหนัก 17 กรัม จำนวนประมาณ 317 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 55% และพรีฟอรม์ น้ำหนัก 18.5 กรัม จำนวนประมาณ 188 ล้านชิ้นต่อปี หรือ ประมาณ 33% ของปริมาณพรีฟอรม์ทั้งหมด ดังนั้น การลดน้ำหนักของพรีฟอรม์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดปริมาณพลาสติก

ในปี 2565 หลังจากโครงการปรับลดน้ำหนักพรีฟอร์มเสร็จสิ้น จาก 17 กรัมเป็น 15.89 กรัมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ด้วยจำนวนการใช้งานของพรีฟอร์มลดน้ำหนักอยู่ที่ 240 ล้านชิ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพรีฟอร์มน้ำหนักเดิม จะช่วยลดพลาสติกที่ใช้ลงประมาณ 266,636 กิโลกรัม

ในส่วนของพรีฟอร์มน้ำหนัก 18.5 กรัม ที่ใช้ในการเป่าเป็นขวดพลาสติกขนาด 500 มิลลิลิตรสำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์ชาเขียวด้วยระบบปลอดเชื้อ ปัจจุบัน ทางบริษัทฯ สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้ประมาณ 86,516 กิโลกรัม จากที่ต้องใช้พลาสติกทั้งหมดประมาณ 4.7 ล้านกิโลกรัม เมื่อเทียบกับพรีฟอร์มน้ำหนักเดิม ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและเริ่มใช้พรีฟอร์มน้ำหนัก 18.16 กรัม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึงปัจจุบัน

• พัฒนาฉลากจากวัสดุ PET: ในปี 2564 โออิชิ ได้ศึกษาและทดลองใช้ฉลาก PET ในสายการผลิต CAF1 สำหรับผลิตภัณฑ์ชาเขียวโออิชิ รสข้าวญี่ปุ่น ขนาด 500 มิลลิลิตร แทนฉลากที่ผลิตจากพลาสติกชนิด PVC เนื่องจากพลาสติกชนิด PET มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกชนิด PVC และพลาสติกชนิด PET
ยังสามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้อีกด้วย แต่ในด้านการใช้งานพลาสติกชนิด PET ยังมีข้อจำกัด เพราะหดตัวสูง เหมาะสำหรับขวดโค้งที่ตัวขวดมีขนาดแตกต่างกันระหว่างลำตัวขวดและคอขวด ทั้งนี้จากการทดสอบ สรุปได้ว่าฉลากพลาสติก PET สามารถใช้งานกับเครื่องจักรได้ ไม่พบปัญหา มีการหดตัวได้ดี สม่ำเสมอ โดยเริ่มใช้งานในเดือนพฤษภาคม 2565 เริ่มจากโรงงานโออิชิ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี สำหรับสายการผลิต CAF1 และ 3 และโรงงานโออิชิ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี สำหรับสายการผลิต CAF2 และ 4 ตามลำดับ และมีโครงการขยายผลการใช้งานฉลากพลาสติก PET ไปยังรสชาติอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย โดยมีเป้าหมายการเปลี่ยนใช้ฉลากพลาสติก PET แบบสมบูรณ์ ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567

- ผลิตภัณฑ์ โออิชิ กรีนที ที่ใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษมีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ชาเขียวประเภทกล่องกระดาษ UHT กล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้รวมหน่วยชาเขียวในการขนส่ง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์อื่นๆ
ซึ่งทำจากกระดาษ ที่ใช้ภายในโรงงาน โดยบริษัทมุ่งเน้นและตระหนักถึงการเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์จากคู่ค้า ทั้งในเรื่องของการใช้กระดาษรีไซเคิลที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ การคัดเลือกคู่ค้าที่ได้รับการรับรอง FSC ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการจัดการป่าไม้ของโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดการป่าไม้อย่างถูกต้อง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการทดแทนทรัพยากรโดยปลูกป่าทดแทนไม้ที่ถูกนำมาใช้ ทำให้องค์กรมั่นใจได้ว่า คู่ค้าของโออิชินั้นให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน ตั้งแต่การจัดหาแหล่งวัตถุดิบจนสิ้นสุด กระบวนการผลิต และยังมีส่วนช่วยปลูกป่าคืนกลับสู่ธรรมชาติ
- การนำกระป๋องอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ (Aluminium Loop) ในปี 2565 ทางโออิชิ เทรดดิ้ง จำกัดได้ร่วมกับบริษัท บริษัท ไทย เบฟเวอร์เรจ แคน จำกัด ในโครงการที่ชื่อว่า “ Can to Can Journey ” The endless Journey of Aluminium Cans เพื่อนำกระป๋องเครื่องดื่มผลิตภัณฑ์โออิชิ ชาคูลล์ซ่า กลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ซึ่งมีปริมาณมากถึง 874,538 กิโลกรัม ในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 โดยการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม จากกระป๋องรีไซเคิลสามารถลดพลังงานในกระบวนการผลิตกระป๋องได้มากถึง 95% และ ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 เทียบการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมปกติ ในปัจจุบันนี้ กระป๋องผลิตภัณฑ์โออิชิ ชาคูลส์ซ่า มีสัญลักษณ์ Aluminium Loop ระบุอยู่ เนื่องจากอะลูมิเนียมที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่

จากความพยายามต่างๆ ในด้านบรรจุภัณฑ์ ส่งผลให้ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับมอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำแห่งความรับผิดชอบด้านความยั่งยืน จาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่บริษัทโออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเชียวโออิชิ ร่วมขับเคลื่อน โครงการ “Packback เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” ในพิธี ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งแนวคิด EPR หรือ Extended Producer Responsibility เป็นแนวคิดที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย โดยแนวคิด EPR จะเป็นแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่หลังการบริโภค ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากผู้ผลิตสามารถรับคืนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์กลับคืนจากผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าได้ จะเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้จริง ภายใต้การประสานงานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน

ในการจัดการเพื่อให้มีขยะอาหารกลบฝังเป็นศูนย์ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น โออิชิได้วางแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ตั้งเป้าให้มีขยะอาหารกลบฝังไม่เกิน 2% ซึ่งธุรกิจอาหารโออิชิสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีขยะอาหารกลบฝังเพียง 0.49% ซึ่งถือว่าทำได้เหนือกว่าเป้าหมาย

ตารางแสดงปริมาณขยะอาหาร

ต.ค. 2564 - ก.ย. 2565 ปริมาณการผลิต (ก.ก.) ปริมาณขยะอาหาร (ก.ก.) ปริมาณขยะอาหารที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ (ก.ก.) ปริมาณขยะอาหารที่ถูกส่งไปฝังกลบ (ก.ก.) เทียบเป็นร้อยละของปริมาณขยะอาหารที่ถูกส่งไปฝังกลบ
โรงงานโออิชิ ฟู้ด เซอร์วิส (ครัวกลาง) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี 11,448,848.00437,846.00437,846.000.000.00%
ร้านอาหารทั้งหมดในเครือของโออิชิ16,929,808.29247,623.60165,066.9682,556.670.49%*

*ในจำนวนปริมาณขยะอาหารที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ รวมปริมาณน้ำมันพืชเก่าของร้านอาหารที่นำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลที่จะแปรสภาพให้ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป