ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคขององค์กร

โออิชิ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้บริโภคด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีมีคุณภาพ มีความคุ้มค่า และการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งการให้ความรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้องตลอดจนมีฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์คอยดูแลลูกค้า
เมื่อเกิดปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การให้บริการที่ปลอดภัย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ซึ่งสร้างความกังวลใจให้ลูกค้า โออิชิ จึงได้เน้นย้ำมาตรการความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า และขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้แก่พนักงานของโออิชิเองด้วย ดังนี้
• ตรวจสอบสุขภาพพนักงานทุกคนก่อนเริ่มปฏิบัติงาน และจัดให้พนักงานทุกคนได้รับการตรวจโรคโควิด-19
• พนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากและถุงมือขณะปฏิบัติงาน และทำความสะอาดมืออย่างน้อยทุก 30 นาที ส่วนพนักงานแคชเชียร์ หลังจากรับเงินทอนแล้วให้ฉีดแอลกอฮอล์ที่มือทุกครั้ง
• คัดกรองลูกค้าที่หน้าร้านด้วยการวัดอุณหภูมิลูกค้าก่อนเข้ารับบริการ
• จัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือให้กับลูกค้าที่จุดเข้า-ออก และบริเวณต่าง ๆ ในร้าน
• จัดที่นั่งให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร
• มีการฆ่าเชื้อสินค้าและวัตถุดิบที่รับเข้าร้านก่อนทำการจัดเก็บ
• อุปกรณ์ส่วนกลางที่ให้บริการบริเวณเคาน์เตอร์มีการเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ ชั่วโมง รวมถึงมีมาตรการเข้มงวดในการทำความสะอาดภาชนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ
• ทำความสะอาดโต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังลูกค้าใช้บริการเสร็จ
• ทำความสะอาดพื้น ทางเดิน และเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ภายในร้านด้วยน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ
• จัดทำระบบสั่งอาหารไร้สัมผัส (QR Order) ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดจากพนักงานหรือโต๊ะที่นั่งด้วยสมาร์ทโฟน ลูกค้าสามารถเลือกดูเมนูอาหารที่แสดงในโทรศัพท์ลูกค้า และกดสั่ง จากนั้นระบบจะทำการส่งรายการเข้าครัวเพื่อจัดเตรียมตามข้อมูลที่ได้รับ
• จ่ายเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) เป็นอีกทางเลือกในการชำระค่าอาหารทั้งสำหรับการมารับประทานที่ร้านและจัดส่งถึงบ้าน โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ปรากฏอยู่บนใบแจ้งยอด ซึ่งจะแสดงจำนวนยอดเงินที่ต้องทำการชำระได้ทันทีเมื่อทำการสแกนเสร็จสิ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งกับลูกค้า อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำรายการให้แก่ร้านค้า รวมไปถึงช่วยลดการจัดการเงินสดและเวลาทำธุรกรรมที่สั้นลง

2. คุณภาพและความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ
โรงงานผลิตเครื่องดื่มชาเขียว โออิชิ และโรงงานผลิตอาหาร ครัวกลาง นั้นได้รับมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานการควบคุมคุณภาพต่างๆ มากมาย อาทิ ISO9001: 2015, ISO14001: 2015, ISO22000: 2018, FSSC22000, GHPs, HACCP , Global Standard for Food Safety อันเป็นการเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มของโออิชิที่ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

สำหรับร้านอาหารโออิชิ เน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย และคุ้มค่ากับผู้บริโภค ทั้งในด้านคุณภาพ ปริมาณ และราคา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจสูงสุด โดยให้บริการอาหารทั้งในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ที่มีอาหารให้เลือกหลากหลายและไม่จำกัดปริมาณการรับประทาน ในระดับราคาที่เหมาะสม และการให้บริการแบบสั่งตามรายการอาหาร หรือ A La Carte ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่าง ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะและเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ มีการคัดสรรวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ดี เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย รวมถึงมีการพัฒนาและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคจึงสามารถไว้วางใจและเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าของโออิชิได้ว่ามีความคุ้มค่า เหมาะสมกับราคาอย่างแท้จริง

o การให้บริการที่ทันสมัย และสะดวกสบาย
- เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าและอำนวยความสะดวกด้วย โออิชิ ฟู้ด ทรัค (OISHI Food Truck) : รถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ที่รวมแบรนด์ต่างๆ ในเครือโออิชิ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็ว และเคลื่อนย้ายได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจอดให้บริการตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ มีเมนูอาหารหลากหลายประเภท เช่น แซลมอน เบนโตะ เซ็ต, ข้าวหน้าปลาซาบะ, เกี๊ยวซ่าทอด เป็นต้น
- เปิดตัว “โออิชิ บิซโทโระ” (OISHI BIZTORO) ทางเลือกความอร่อยง่าย ๆ สไตล์ญี่ปุ่น
โมเดิร์น ตอบโจทย์ลูกค้าเรื่องราคาและความคุ้มค่า ไปจนถึงสถานที่ที่เข้าถึงง่ายและสะดวกมากขึ้น เช่น สถานีบริการน้ำมัน และ คอมมูนิตี้ มอลล์ ภายใต้แนวคิด “ทางเลือกความอร่อยง่าย ๆ สไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์น” สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวก อร่อย รวดเร็ว ในมื้ออาหาร และที่สำคัญมีเมนูหลากหลายในราคาย่อมเยา สามารถรับประทานได้บ่อย ๆ

o พัฒนาและขยายช่องทางการขายแบบส่งถึงบ้าน (Delivery)
- เพิ่มรูปแบบการใช้งานระบบการสั่งอาหารออนไลน์ WWW.OISHIDELIVERY.COM (โออิชิเดลิเวอรี่ดอทคอม) เพื่อเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นในการสั่งอาหารจากร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ได้แก่ โออิชิ แกรนด์, โออิชิ
อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, นิกุยะ, ชาบูชิ, โฮว ยู, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ และ โออิชิ คิทเช่น
- ร่วมกับ WWW.SHOPTEENEE.COM (ช้อปที่นี่ดอทคอม) เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าและอาหารออนไลน์ของกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มในเครือโออิชิผ่านช่องทางดังกล่าวนี้
- ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ร่วมกับ Shopee Food แอปพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ทางเลือกเพิ่มเติมจากพันธมิตรทางธุรกิจที่เปิดให้บริการไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้บริการสั่งอาหารสำหรับร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ แกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ, โฮว ยู และโออิชิ คิทเช่น
- เพิ่มรูปแบบและช่องทางบริการจัดส่งอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ลูกค้าที่ชื่นชอบในความหลากหลายของเมนูอาหารญี่ปุ่นพรีเมียม โดยเน้นเสิร์ฟเป็นคอร์สครบครันทั้งคาว หวาน มีให้เลือกหลายระดับราคา ทั้งนี้ สามารถสั่งจากร้านโออิชิ แกรนด์ และ โออิชิ อีทเทอเรียม ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น Hungry Hub (ฮั้งกรี้ ฮับ)

3. การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และบริการ
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของโออิชิ จะมีการแสดงข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือบนบรรจุภัณฑ์เป็นไปตามหลักสากลและตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนได้แสดงเครื่องหมายให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงการรับรองคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า เช่น ข้อมูลด้านสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ ผ่านการแสดงฉลาก GDA, Nutrition Table, คุณประโยชน์จากสารอาหาร และการแสดงสัญลักษณ์ Healthier Choice Logo ซึ่งผลิตภัณฑ์ชาเขียวโออิชิที่ได้รับสัญลักษณ์ Healthier Choice อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์ชาเขียว โออิชิ โกลด์ ชาเขียวโออิชิ รสต้นตำรับ ชาเขียวโออิชิ รสข้าวญี่ปุ่น ชาเขียวโออิชิ พลัสซี กลิ่นส้มผสมวุ้นมะพร้าว ชาเขียวโออิชิ รสแตงโม ชาเขียวโออิชิ รสแอปเปิ้ลฮันนี่ สูตรไม่มีน้ำตาล และชาเขียวโออิชิ ชาคูลล์ซ่า รสองุ่น เคียวโฮ

4. การสื่อสารการตลาดและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
กลุ่มธุรกิจอาหารโออิชิประสานความร่วมมือกับ CMKL University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Carnegie Mellon University (CMU) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง พัฒนาระบบจัดกลุ่มลูกค้าที่เป็นสมาชิกของ BevFood จากการใช้บริการจริงในทุกช่องทางเพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างสรรค์แนวทางการขายให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม ด้วยวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้และขยายฐานสร้างลูกค้าใหม่ผ่านรูปแบบการส่งมอบสิทธิพิเศษด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) ผ่านรูปแบบการแสดงข้อความบนมือถือของลูกค้า (Push Notification) ให้กับสมาชิกของแอปพลิเคชัน BevFood และ/หรือ e-Coupon โดยสามารถเลือกส่งไปยังฐานสมาชิกทั้งหมด หรือ เฉพาะบุคคล/กลุ่มที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละรายการส่งเสริมการตลาด ซึ่งเป็นสมาชิกที่ได้ทำการให้ความยินยอมให้ส่งข้อความถึงได้ พร้อมทั้งกำหนดสิทธิ ระยะเวลาการใช้ อีกทั้งยังมีระบบตรวจสอบการตอบรับของกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตราการใช้และความพึงพอใจที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันมีการจัดระบบ Centralized Database เพื่อรองรับพระราชบัญญัติ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act-PDPA) โดยข้อมูลของลูกค้าจะถูกเก็บเป็นความลับ ไม่เปิดเผยต่อภายนอกและบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่นำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เกิดประโยชน์กับ
ตัวผู้บริโภค นอกจากนี้ ลูกค้าที่ร่วมกิจกรรมกับทางเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิผ่านแอปพลิเคชัน OISHI Club ที่มีการสะสมแต้ม ลุ้นรางวัลต่างๆ จะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

5. การสำรวจความพึงพอใจและรับข้อเสนอแนะจากลูกค้า
บนฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโออิชิ มีหมายเลขคอลล์เซ็นเตอร์รับเรื่องร้องเรียนและติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถทำการติดต่อเพื่อเสนอแนะหรือร้องเรียนได้ รวมถึงช่องทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของทางโออิชิด้วย
โออิชิ มีการจัดทำ QR Survey ท้ายใบเสร็จรับเงินร้านอาหารเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าที่แสดงความคิดเห็น แนะนำ และติชม โดยหากมีข้อใดที่ลูกค้าให้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จะมีอีเมลแจ้งไปยังร้านที่ให้บริการในทันที
เพื่อทำการแก้ไขปัญหาและแจ้งผลการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ ภายในระยะที่กำหนดไว้ในแต่ละหัวข้อ ทุกความคิดเห็นจึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะถูกนำมาวิเคราะห์ กลั่นกรอง เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุง และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท ได้ระบุไว้ว่า ให้ดำเนินการติดตามและทบทวนผลความพึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยสำรวจผ่านการดำเนินงานการขายในทุกๆเดือน เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงรักษาคะแนนความพึงพอใจของลูกค้าได้มากกว่าร้อยละ 90