การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน จะช่วยเพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ดังนั้นแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของโออิชิจึงให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการสื่อสารด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแก่คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันให้แก่คู่ค้า ผู้บริโภค และสังคมในฐานะบริษัทผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นในประเทศไทย

(1) การจัดหาวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ
การขาดแคลนวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัท เพื่อให้การจัดหาวัตถุดิบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าในการวางแผนจัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งการจัดเตรียมวัตถุดิบทดแทนในกรณีฉุกเฉินเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ โดยจัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอกับคู่ค้าหลัก นอกจากนี้ โออิชิร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ”) และบริษัทในกลุ่มไทยเบฟในกระบวนการคัดเลือกและจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการประสานกำลัง ซึ่งช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองที่ดีกว่าเดิม และเพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

โออิชิมีแนวนโยบายชัดเจนที่ให้ความสำคัญในการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ จากผู้ประกอบการและเกษตรกรภายในประเทศ ประกอบด้วย
- การใช้วัตถุดิบใบชาที่มีคุณภาพสูงจากเกษตรกรในประเทศ ซึ่งมาจากพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ประเทศไทย)
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากผู้ประกอบการในโครงการประชารัฐและผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีระบบการจัดการที่ดี
- ร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการประสานกำลัง ในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และเพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

(2) การจัดหาอย่างยั่งยืน
การจัดหาอย่างยั่งยืนเป็นรากฐานสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน เพราะการจัดหาเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพและผลกระทบจากการเลือกใช้วัตถุดิบและแหล่งวัตถุดิบที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ โออิชิจึงใส่ใจในการคัดสรรวัตถุดิบ สินค้า บริการ รวมถึงคู่ค้า โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและที่อาจจะส่งผลระยะยาว

โออิชิให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่มีความถูกต้อง รวมถึงการจัดระบบและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของคู่ค้า โดยนำกลไกการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสินค้าและบริการมาใช้ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการความเสี่ยงคู่ค้า ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ คัดกรองคู่ค้า ไปจนถึงตรวจสอบผลงานให้เป็นไปตามมาตรฐานและกระบวนการจัดการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นอกจากนั้น โออิชิปรับเพิ่มนโยบายที่รัดกุมในการจัดการต่อโรคภัยใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าและบริการที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้นมีคุณภาพและปลอดภัย ดังเช่นในปี 2563-2564 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นในส่วนการบริหารจัดการคู่ค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โออิชิได้จัดเตรียมแผนรองรับ ดังนี้
- สำรวจความพร้อมของคู่ค้า และจัดเตรียมคู่ค้าทางเลือก พร้อมจัดทำรายการสินค้ากลุ่มเสี่ยง เช่น สินค้าที่เป็นวัตถุดิบหลัก สินค้าที่มีปริมาณการใช้สูง และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
- เตรียมวัตถุดิบทดแทน ในกรณีที่วัตถุดิบหลักไม่เพียงพอ
- ทำงานร่วมกับคู่ค้ามากขึ้นในการแก้ปัญหา รวมถึงการขอรับการสนับสนุนตามความเหมาะสม
- จัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอกับคู่ค้าหลักในการจัดหาวัตถุดิบ ทำงานอย่างใกล้ชิดในการวางแผนจัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งการจัดเตรียมวัตถุดิบทดแทนในกรณีฉุกเฉินที่วัตถุดิบหลักไม่เพียงพอ เพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ